Last updated: 12 พ.ย. 2565 | 229 จำนวนผู้เข้าชม |
มะเร็งเต้านมเป็นโรคมะเร็งที่พบมากที่สุดในผู้หญิง และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆของผู้หญิงทั่วโลก ซึ่งปกติการเจริญเติบโตของเซลล์บริเวณเต้านมรวมทั้งการทำงานของเต้านมจะขึ้นอยู่กับฮอร์โมน เช่น เอสโตรเจน โปรเจสเตอโรน หรือ สารที่กระตุ้นให้เซลล์มีการเพิ่มจำนวนและเจริญเติบโต โดยมักจะเพิ่มขึ้นสูงในช่วงวัยเจริญพันธุ์ ระหว่างการตั้งครรภ์ รวมถึงช่วงที่ให้นมบุตร
มะเร็งเต้านมเกิดจากความผิดปกติของเซลล์ที่อยู่ภายในท่อน้ำนมหรือต่อมน้ำนมที่มีการแบ่งตัวผิดปกติ ไม่สามารถควบคุมได้ และแพร่กระจายไปตามทางเดินน้ำเหลือง ไปสู่อวัยวะที่ใกล้เคียงเช่น ต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ หรือแพร่กระจายไปสู่อวัยวะต่าง ๆภายในร่างกาย โดยมะเร็งเต้านมพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยผู้ชายมีโอกาสพบได้น้อยมากเพียง 1 % ของมะเร็งเต้านมทั้งหมด
ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านม
1.ปัจจัยซึ่งเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการรับประทานอาหารและรูปแบบการดำเนินชีวิต
-ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
-น้ำหนักที่เกินมาตรฐาน
-ขาดการออกกำลังกาย
2.ปัจจัยอื่นๆหรือปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้
-อายุที่เพิ่มมากขึ้น
-เริ่มมีประจำเดือนเมื่ออายุน้อยกว่า 12 ปีหรือประจำเดือนหมดช้าหลังอายุ 55 ปี
-การได้รับรังสี
-ปัจจัยทางพันธุกรรมโดยเฉพาะหากครอบครัวมีญาติสายตรง เช่น มารดา พี่สาว น้องสาว หรือมีคนในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งเต้านมหลายคนหรือมีญาติเคยเป็นมะเร็งเต้านมพร้อมกันทั้ง 2 ข้าง
-ผู้หญิงที่ไม่มีบุตรหรือมีบุตรคนแรกหลังอายุ 30 ปี
-ผู้หญิงที่กินยาฮอร์โมนทดแทนหลังวัยทองเป็นระยะเวลานานเกิน 5 ปี
จากข้อมูลของกองทุนวิจัยโรคมะเร็งของโลก และสถาบันวิจัยโรคมะเร็งแห่งประเทศอเมริกา (World Cancer Research Fund/American Institute for Cancer Research หรือ WCRF/AICR) ได้ให้คำแนะนำไว้ว่าการเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ รวมถึงปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิตถือเป็นปัจจัยสำคัญในการป้องกันและลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านม
คำแนะนำเพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านม
1. หลีกเลี่ยงหรือลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในกรณีที่ดื่มแอลกอฮอล์ในผู้หญิงไม่ควรดื่มเกิน 1 ดื่มมาตรฐานต่อวัน ในผู้ชายไม่ควรเกิน 2 ดื่มมาตรฐานต่อวัน
ประเภทของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ประเภทของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ | ปริมาณ 1 ดื่มมาตรฐานต่อวัน |
เบียร์ | 1กระป๋อง หรือ 1ขวดเล็ก หรือ330มิลลิลิตร |
ไวน์ | 1 แก้ว 100 มิลลิลิตร |
วิสกี้ หรือ วอดก้าที่มีแอลกอฮอล์ 40-43% | 3 ฝา หรือ 30 มิลลิลิตร |
BMI มาตรฐานสากล (ยุโรป) | BMI มาตรฐานสากล (เอเชีย) | การแปรผล |
< 18.5 | < 18.5 | น้ำหนักน้อยกว่ามาตรฐาน |
18.5-24.9 | 18.5-22.9 | ปกติ |
25-29.9 | 23-14.9 | อ้วนระดับ 1 |
30-34.9 | 25-29.9 | อ้วนระดับ 2 |
35-39.9 | มากกว่าหรือเท่ากับ 30 | อ้วนระดับ 3 |
มากกว่าหรือเท่ากับ 40 | - | อ้วนระดับ 4 |
3. ทานอาหารที่เน้นพืชเป็นหลัก เช่น โฮลเกรน ผัก ผลไม้ และถั่วต่างๆ เช่น ถั่วเขียว ถั่วเลนทิล
อาหารเหล่านี้อุดมไปด้วยไฟโตนิวเทรียนท์ ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น แคโรทีนอยด์กลูโคไซโนเลทฯลฯ ที่มีคุณสมบัติช่วยป้องกันการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ในร่างกายมนุษย์ และยับยั้งการขยายตัวของเซลล์ผิดปกติซึ่งอาจจะกลายเป็นเซลล์มะเร็งได้ นอกจากนี้การทานผักและผลไม้ยังช่วยควบคุมน้ำหนัก ป้องกันโรคอ้วนซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดมะเร็งเต้านม
รับประทานทานผักโดยเฉพาะผักใบและผลไม้เป็นประจำทุกวันอย่างน้อย 5ส่วน หรือ 400 กรัม/วัน
4. เลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ
4.1 หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารไขมันสูง
อาหารไขมันสูง เมื่อรับประทานมากๆ จะสะสมกลายเป็นไขมันในร่างกาย และเนื้อเยื่อไขมันสามารถผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ส่งผลให้เกิดมะเร็งเต้านม
-หลีกเลี่ยงอาหารที่มีส่วนประกอบของกรดไขมันอิ่มตัวหลายตำแหน่ง ไขมันทรานส์ และอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง รวมถึงอาหารแปรรูป
-เลือกอาหารที่มีไขมันดี โดยเฉพาะจากเนื้อปลาโดยเพิ่มการทานปลาอย่างน้อย 3 ครั้ง/สัปดาห์ น้ำมันจากพืช เช่น น้ำมันมะกอก,น้ำมันรำข้าว น้ำมันทานตะวัน น้ำมันถั่วลิสง รวมถึงไขมันจากถั่วเปลือกแข็งและธัญพืช ซึ่งจากงานวิจัยพบว่าการทานไขมันไม่อิ่มตัวซึ่งเป็นไขมันดีในปริมาณที่เหมาะสมจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมได้
4.2 ลดปริมาณการทานเนื้อสัตว์สีแดง
เนื้อแดงที่มีไขมันสูงโดยเฉพาะไขมันอิ่มตัวมีองค์ประกอบอื่นที่เพิ่มความเสี่ยง มะเร็งเต้านม เช่น เนื้อวัว,หมู,แพะ,แกะ เป็นต้น แนะนำไม่ควรทานเกิน 500 กรัม/สัปดาห์ หรือวันละ5ช้อนโต๊ะ/วัน
4.3 ลดปริมาณการดื่มเครื่องดื่มรสหวาน เช่น น้ำอัดลม หรือชานม และขนมหวานซึ่งมีน้ำตาลและไขมันสูง
5. ออกกำลังกายเป็นประจำและสม่ำเสมอ
การออกกำลังกายจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดปริมาณอินซูลินภายในร่างกายไม่ให้ผลิตมากจนเกินไป เนื่องจากปริมาณอินซูลินที่มากเกินไปจะส่งผลต่อการแบ่งตัวของเซลล์ที่มากขึ้นรวมถึงกระตุ้นการเกิดมะเร็งเต้านม
การออกกำลังกายที่ดี ควรทำอย่างเป็นประจำและมีความสม่ำเสมอ ควรทำให้ได้ 3 – 5 ครั้ง/สัปดาห์ และ ครั้งละประมาณ 30 – 45 นาที (150 นาที/สัปดาห์)
6.วิตามินและอาหารเสริม
สำหรับผู้ป่วยที่สามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติ อาจไม่มีความจำเป็นต้องเสริมสารอาหารแต่สำหรับผู้ป่วยที่รับประทานได้น้อยลง ทำให้ได้รับวิตามินหรือสารอาหารไม่เพียงพอ อาจต้องใช้วิตามินหรืออาหารเสริมช่วยซึ่งควรปรึกษาแพทย์ก่อน
7.ความเชื่อของอาหารกับมะเร็งเต้านม
1. ถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง
ปริมาณฮอร์โมนเอสโตรเจนที่สูงมากมีส่วนกระตุ้นการเกิดมะเร็งเต้านมโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งเต้านมชนิดไวต่อฮอร์โมน แต่อย่างไรก็ตามการทานถั่วเหลืองตามธรรมชาติที่มีสารไอโซฟลาโวน(สารที่ออกฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเพศหญิงเอสโตรเจน) ไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมเนื่อจากมีปริมาณสารไอโซฟลาโวนน้อยมาก ดังนั้นสามารถทานได้ แต่ควรหลีกเลียงอาหารเสริมหรือผลิตภัณฑ์ที่สกัดจากถั่วเหลืองทีมีความเข้มข้นสูงทีใช้ทดแทนฮอร์โมน
2. การงดน้ำตาลเพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง
เซลล์มะเร็งไม่ได้ใช้น้ำตาลจากอาหารแต่ใช้น้ำตาลที่ตับสร้างขึ้น ดังนั้นสามารถทานอาหารที่มีน้ำตาลได้แต่ต้องในปริมาณที่เหมาะสม สิ่งที่สำคัญของการลดน้ำตาลเพื่อป้องกันภาวะอ้วนซึ่งถือเป็นปัจจัยหนึ่งของการเกิดมะเร็งเต้านม ดังนั้นจึงเน้นให้ควบคุมการดิ่มเครื่องดื่มที่มีรสหวาน หรือการทานขนมหวาน รวมถึงไม่เติมน้ำตาลเพิ่มในมื้ออาหาร และเลือกบริโภคคาร์โบไฮเครตเชิงซ้อน เช่น ข้าวกล้อง ข้าวธัญพืชต่าง ๆ ขนมปังโฮลวีท ซึ่งมีวิตามินและสารอาหารมากกว่า
3.เนื้อสัตว์และเนื้อแดง
ไม่ใช่เนื้อสัตว์ทุกชนิดที่เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคมะเร็ง แต่เป็นเนื้อสัตว์ที่มีไขมันอิ่มตัวสูง ดังนั้นพยายามหลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์กลุ่มนี้เช่น เนื้อวัว หมูติดมัน แพะ แกะ เป็นต้น รวมถึงอาหารแปรรูปต่างๆ เช่นไส้กรอก ลูกชิน แฮม เบคอน เนื่องจากมีการเติมสารกันบูด และแนะนำวิธีการปรุงที่ปลอดภัยมากขึ้น หลีกเลี่ยงการปิ้ง ย่าง ทอด
4.เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นอกจากจะส่งผลเสียต่อร่างกายในระยะยาวแล้ว ผู้หญิงที่ดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานๆ จะเป็นการเพิ่มปัจจัยเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งไม่ใช่แค่เต้านม แต่ยังรวมถึงมะเร็งช่องปาก มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งลำไส้ มะเร็งตับ เช่นกัน
5.นมและผลิตภัณฑ์จากนม
มีงานวิจัยหลากหลายที่พูดถึงผลของการบริโภคนมในทิศทางที่แตกต่างกัน ดังนั้นถ้าจะเลือกดื่มนมให้ดื่มนมที่มีไขมันต่ำซึ่งจะมีไขมันอิ่มตัวน้อยกว่าแทน
6.เน้นทานผักผลไม้เป็นหลัก
การทานผักผลไม้นอกจากจะลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ ใยอาหารในผักผลไม้ยังเป็นตัวสำคัญที่อาจช่วยป้องกันการดูดซึมฮอร์โมนเอสโตรเจนในลำไส้ นอกจากนี้การทานผักและผลไม้ยังช่วยควบคุมน้ำหนัก ป้องกันโรคอ้วนซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดมะเร็งเต้านม
27 มิ.ย. 2567
27 มิ.ย. 2567
24 พ.ค. 2567